หลักการ แนวคิดการบริหารงาน
รูปแบบในการบริหารงานเพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน สถานศึกษาได้มีนักวิชาการและองค์กรทางการศึกษาได้นำเสนอแนวคิดการบริหารงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งนายทองสุข รวยสูงเนิน ศึกษานิเทศก์ 9 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ได้สรุปแนวคิดการบริหารงาน 5 แนวคิดไว้ใน คู่มือปฏิบัติการ การบริหารงานวิชาการที่ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครู ( 2540 : 10-16 ) ไว้ดังนี้
แนวคิดที่ 1 การบริหารงานอย่างเป็นระบบ
ระบบที่กล่าวถึงในที่นี้มีความหมายสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ระบบที่เป็นหน่วยทำงานและระบบที่เป็นกระบวนการปฏิบัติงาน (กรมวิชาการ, 2535 : 7-12) ซึ่งมีรายละเอียดของการบริหารงานอย่างเป็นระบบตามความหมายทั้ง 2 ส่วน สรุปได้ คือ
1. ระบบที่เป็นหน่วยทำงาน เป็นการมององค์การหรือโรงเรียนในรูปของระบบตามความหมายนี้ เป็นการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบต่าง ๆ ของโรงเรียนและมีจุดประสงค์เป้าหมายที่แน่นอนประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของระบบดังนี้
1.1 องค์ประกอบในการทำงาน(ปัจจัย)
1.2 วิธีการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบ(กระบวนการ)
1.3 เป้าประสงค์ของงานที่ทำ(ผลผลิต)
1.4 คุณประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นจากการทำงาน(ผลกระทบ)
การบริหารงานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นการจัดสภาพของหน่วยงานและงานภายในหน่วยงานให้มีความสัมพันธ์กันเชิงเหตุผลเป็นขั้นตอนที่ส่งผลต่อเนื่องกัน ตั้งแต่องค์ประกอบการทำงาน(ปัจจัย) จนถึงผลปลายทาง (ผลกระทบ) ดังแผนภาพ
ปัจจัย
|
กระบวนการ
|
ผลผลิต
|
ผลกระทบ
|
2. ระบบที่เป็นกระบวนการปฏิบัติงาน อาจเรียกชื่ออย่างอื่นอีกในความหมายเดียวกัน เช่น การทำงานเป็นระบบ การทำงานเป็นกระบวนการหรือวิธีการเชิงระบบ เป็นต้น ลักษณะการทำงานเป็นระบบคือการทำงานที่มีขั้นตอนตามลำดับก่อนหลัง ตั้งแต่เริ่มงานจนเสร็จสิ้นครบวงจรการทำงาน ขั้นตอนที่กำหนดอาจมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของงาน แต่ควรจะมีขั้นตอนสำคัญต่อไปนี้
2.1 ขั้นกำหนดปัญหา หรือความต้องการที่จะพัฒนางานว่าต้องการพัฒนาอะไรมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายอย่างไร
2.2 ขั้นวางแผนในการดำเนินการ เลือกวิธีการ เทคนิคที่จะพัฒนางานนั้นให้บรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์
2.3 ขั้นลงมือปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้
2.4 ขั้นติดตาม ตรวจสอบและปรับปรุงงาน สรุปผลงาน
โกวิท ประวาลพฤกษ์ (2532 : 37-47) ได้กล่าวถึงการทำงานอย่างเป็นระบบในการนิเทศการศึกษาไว้เป็น 6 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตระหนักว่าต้องมีการพัฒนา
2. ขั้นรู้จุดที่จะพัฒนา
3. ขั้นรู้วิธีการพัฒนาในแต่ละจุด
4. ขั้นลงมือปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนด
5. ขั้นตรวจสอบผลการปฏิบัติ
6. ขั้นภูมิใจในผลงาน
แนวคิดที่ 2 การบริหารแบบมีส่วนร่วมหรือการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์
การบริหารแบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบของการทำงานที่ยึดความเกี่ยวข้องผูกพันร่วมกันของสมาชิกในองค์การ ในการคิดตัดสินใจการร่วมปฏิบัติงาน ให้ข้อเสนอแนะและการเป็นเจ้าของกิจการหรือรับประโยชน์ร่วมกัน เอกชัย กี่สุขพันธ์ (2538 : 327-334) กล่าวถึงการบริหารแบบมีส่วนร่วมพอสรุปได้ว่า ความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันนี้เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในการปฏิบัติงานร่วมกันเกิดการทำงานเป็นทีม (Team work) ทำให้มีการต่อต้านน้อยลง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกันและกัน ยอมรับความสามารถซึ่งกันและกันเกิดความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในองค์การ เป็นผลดีต่อการพัฒนางานระดับของการมีส่วนร่วมเป็นความรู้สึกของบุคคลที่มีต่องาน ซึ่งมีระดับความเข้มดังนี้
การมีส่วนร่วม
( Participation)
|
ความเกี่ยวข้องผูกพัน
( Involvement)
|
ข้อผูกมัดตกลงร่วมกัน
( Commitment )
|
ระดับความเข้มของการมีส่วนร่วมนอกจากจะเป็นระดับของจิตใจแล้วยังมีปริมาณของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามกระบวนการของการปฏิบัติงาน ซึ่งพอจะเขียนเป็นแผนภูมิของการมีส่วนร่วมได้ดังนี้
ร่วมคิด
|
ร่วมทำ
|
ร่วมประเมิน
|
ร่วมรับผล
|
ระดับการมีส่วนร่วมนั้น ผู้บริหารจะเป็นบุคคลสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานให้มีบทบาท โดยการสร้างบรรยากาศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การไว้วางใจผู้ร่วมงาน การยอมรับฟังความคิดเห็น การใช้เทคนิค การตัดสินใจโดยกลุ่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของสมาชิกในองค์การ เวลา และสถานที่อีกด้วย ผู้บริหารจึงต้องรู้จัก วิเคราะห์คน วิเคราะห์สถานการณ์ ประกอบไปด้วย
มีหลักการสำคัญ 4 ประการ ที่เป็นพื้นฐาน ปรัชญาในการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์หลักการเหล่านี้มุ่งพัฒนาสัมพันธภาพที่วางไว้ (กรมวิชาการ, 2534 : 26)
1. กระบวนการบริหารทั้งกระบวนการ สร้างขึ้นด้วยสัมพันธภาพ ที่ผูกพันและไว้วางใจกัน ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยการเปิดเผยและความซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชา
2. ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานได้ดีเพราะเขาเข้าใจตนและตนเข้าใจปัญหา ไม่ใช่เพราะปฏิบัติงานตามที่ถูกสั่งหรือบังคับให้ปฏิบัติงาน
3. การตัดสินใจของผู้ปฏิบัติงานอย่างอิสระช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานภาคภูมิใจในผลงานเพราะมนุษย์แสวงหาสิทธิที่จะตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าถูกบังคับบัญชาหรือชักจูงให้ตัดสินใจ แม้ว่าผลของการตัดสินใจนั้น จะมีข้อสรุปตรงกับที่เขาได้คิดเอง ตัดสินใจเองก็ตาม
4. สร้างความไว้วางใจให้ผู้ปฏิบัติงานแก้ปัญหา ได้ด้วยตนเองโดยมีผู้บริหารคอยให้ความช่วยเหลือ จงอย่าเป็นผู้แก้ปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าบีบบังคับให้เขาแก้ปัญหาในฐานะผู้บริหาร เขาจะโกรธท่านและไม่พอใจกับการแก้ปัญหานั้น ถึงแม้จะได้ผลดีกว่าก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น